วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิธีป้องกันและดูแลอาการป่วย โรคอีสุกอีใส

วิธีป้องกันและดูแลอาการป่วย โรคอีสุกอีใส
อีสุกอีใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย พบ ได้บ่อยในเด็กวัยเรียน นับเป็นโรคที่ไม่รุนแรงในเด็กปกติ สามารถหายได้เองและไม่มีอันตราย แต่อาจทำให้มีผลเสียทางอ้อม เช่น ต้องหยุดโรงเรียน พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหยุดงานเพื่อมาดูแล อาการของโรคและผลกระทบจะมากขึ้นกรณีเป็นเด็กโต นอกจากนี้ เด็กโต ผู้ใหญ่ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากขึ้น




สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด

การติดต่อ
ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำที่ผิวหนังผู้ป่วยโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอนของผู้ป่วยที่สัมผัสกับตุ่มน้ำ หรือจากการสูดหายใจเอา ละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าทางเยื่อเมือก ระยะติดต่อคือ ช่วง ก่อนเกิดตุ่มคันที่ผิวหนัง 1 หรือ 2 วัน

อาการ
หลังจากได้รับเชื้อเข้าไปจากการสัมผัสโดยตรงหรือจากการหายใจ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 10-21 วัน เริ่มต้นด้วยมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว 2-4 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นเกิดขึ้น ผื่นของโรคนี้อาจมีอาการคันได้ ผื่นจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าและลำตัวก่อนแล้วค่อยๆลามไปยังแขนขา ผื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะต่างๆอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง จากผื่นแดงกลายเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำและตกสะเก็ด ตุ่มน้ำจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำอยู่บนผิวหนังที่แดง เมื่อตุ่มน้ำโตเต็มที่จะกลายเป็นตุ่มหนอง ต่อมาตุ่มหนองจะแห้งลง มีลักษณะบุ๋มตรงกลางแล้วตกสะเก็ดหลุดไปในเวลา 5-20 วัน หลังสะเก็ดหลุด จะเห็นผิวหนังเป็นหลุมเล็กๆสีชมพู ซึ่งต่อมาจะจางเป็นสีขาวและไม่เกิดแผลเป็น แต่ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือแกะสะเก็ดให้หลุดไปก่อนจะเกิดแผลเป็น ตามมาได้ ผื่นของโรคนี้มักอยู่เป็นกลุ่มและมักพบผื่นหลายระยะในบริเวณใกล้ๆกัน โดยพบมากที่บริเวณศีรษะ ลำตัว และใบหน้า ส่วนบริเวณแขนขาจะมีตุ่มขึ้นน้อยกว่า
ลักษณะไข้มักเป็นพร้อมผื่น โดยจะเป็นอยู่ 2-4 วัน และหายไปเมื่อตุ่มตกสะเก็ด โรคอีสุกอีใสในเด็กเล็กอาจไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ แต่ในเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว และเบื่ออาหารนำมาก่อนที่จะมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 1-2 วัน

ภาวะแทรกซ้อน
โดยทั่วไปโรคนี้มักจะหายเป็นปกติได้เอง พบภาวะ แทรกซ้อนได้น้อยในเด็ก พบบ่อยขึ้นในผู้ใหญ่และมักมีอาการรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น
1. การติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดบริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำหรือติดเชื้อในกระแสเลือด ข้อหรือกระดูกได้
2. สมองอักเสบ พบได้น้อยกว่า 1 ใน 1,000 ราย อาการที่พบบ่อยคือ เดินเซ โดยมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือผู้ใหญ่ อาการมักเกิดหลังผื่นขึ้น3-8 วัน
3. ปอดอักเสบ มักพบในผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย อาจมีอาการเขียวหรือไอเป็นเลือดได้ มักเกิดภายในวันที่ 1-5 หลังผื่นขึ้น
4. การติดเชื้อแบบแพร่กระจาย มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาการของโรคมักรุนแรงมีการดำเนินโรคเร็ว
นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้ในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นโรคอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้



การรักษา
เนื่องจากโรคนี้หายได้เองโดยธรรมชาติ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรได้รับการพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ
2. ถ้ามีไข้ ให้ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาลดไข้แอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการไรย์ (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับ ทำให้มีอาการของสมองอักเสบร่วมกับตัวเหลืองจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ นอกจากนี้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ
3. ถ้าปากหรือลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
4. ควรอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
5. ควรตัดเล็บให้สั้น พยายามไม่แกะหรือเกาตุ่มคันซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองได้
6. ควรระมัดระวังไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ระยะแพร่เชื้อคือตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้นจนกระทั่งระยะ 6 วันหลังผื่นขึ้น
7. โรคนี้ไม่มีอาหารแสลง ควรรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนเช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค

การป้องกันโรค
การป้องกันการติดต่อของโรคนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้นจนผื่นตกสะเก็ด
• เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสควรงดไปโรงเรียนจนผื่นตกสะเก็ดหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆในห้องอาจได้รับเชื้อไปตั้งแต่ก่อนผื่นขึ้นแล้ว
• การป้องกันที่ได้ผลในปัจจุบันคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน วัคซีนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดีในเด็ก

การฉีดวัคซีน
• เด็กอายุ 1-12 ปี ป้องกันโดยฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว
• เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ การเกิดภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนไม่ดีเท่าเด็กเล็ก จึงต้องฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
• มีไข้ต่ำๆหรือตุ่มน้ำเล็กน้อยในบางราย
• การฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ทุกคน โดยจะป้องกันได้ร้อยละ 85-95
• ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเมื่อเป็นโรคจะมีอาการไม่รุนแรงมีตุ่มขึ้นจำนวนน้อยและหายเร็ว
• โรคงูสวัดจะพบน้อยลงหลังฉีดวัคซีน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หน่วยสุขศึกษา โรงพยาบาบจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
เว็บไซค์ : http://www.chulalongkornhospital.go.th/

ภาพประกอบจาก www.Photos.co

ไม่มีความคิดเห็น: